ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา รูปแบบของประชาธิปไตยมีการพัฒนาการมาตลอด ซึ่งภาพของการพัฒนาประชาธิปไตยในบ้านเรามีทั้งในด้านบวกและด้านลบ ทั้งนี้เพราะมีปัจจัยต่าง ๆ ที่มากระทบมากมายตลอดระยะเวลา ในบางครั้งก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งทั้งความขัดแย้งในลักษณะสันติวิธี และความขัดแย้งที่มีการใช้ความรุนแรงที่นำมาซึ่งความสูญเสีย ถึงแม้เส้นทางของประชาธิปไตยในประเทศไทยได้เดินผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายสิบปีมีทั้งล้มลุกคลุกคลานกันมาตลอดแต่เราคงต้องยอมรับความจริงกันว่า ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่มีความรู้ความเข้าในคำว่าประชาธิปไตย บ้างก็เคลื่อนไหวเรียกร้องตามกระแสต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม การทำความเข้าใจในแนวคิดของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องที่เรา ๆ ท่าน ๆ น่าที่จะได้มีโอกาสทำความเข้าใจ เพื่อที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย ฯ ในบ้านเรา
สำหรับคำว่าประชาธิปไตยนั้นในภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า “Democracy” เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณคือคำว่า “Democraţie” ซึ่งเป็นคำที่ผสมมาจากคำว่า “Demo” ที่แปลว่าประชาชน และคำว่า “craţie” ที่แปลว่าระบอบการปกครอง ดังนั้นคำว่า “Democraţie” จึงหมายความโดยนัยว่า “การปกครองโดยประชาชน” ส่วนความหมายของคำว่าประชาธิปไตยนั้นได้มีผู้กล่าวไว้อย่างมากมายเช่น อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐ ฯ ได้ให้คำจำกัดความที่รู้จักกันทั่วไปว่า “democracy is a government of the people, by the people, and for the people." โดยถอดใจความเป็นภาษไทยได้ว่า “ประชาธิปไตยคือการปกครอง ของประชาชน โดยประชาชน และ เพื่อประชาชน”
ส่วนพจนานุกรมเคมบริดจ์ฉบับออนไลด์ “Cambridge Dictionaries Online, http://dictionary.cambridge.org) ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า “the belief in freedom and equality between people, or a system of government based on this belief, in which power is either held by elected representatives or directly by the people themselves” หรือถอดใจความเป็นภาษาไทยโดยสังเขปได้ว่า “ความเชื่อในเสรีภาพและความเท่าเทียมกันของมนุษย์ หรือระบอบของการปกครองที่เชื่อในแนวความคิดนี้ โดยอำนาจในการปกครองจะมาจากการเลือกผู้แทนเข้าไปใช้อำนาจหรือประชาชนจะเป็นผู้ใช้อำนาจเหล่านี้โดยตรงเอง” นอกเหนือจากคำว่าประชาธิปไตยที่ใช้กันอย่างแพร่หลายแล้วหลายครั้งที่มีการใช้คำว่า เสรีภาพ (Freedom) ทดแทน ถึงแม้คำทั้งสองจะไม่ได้มีความหมายทดแทนกัน โดยประชาธิปไตยจะเป็นกรอบแนวคิดที่เกี่ยวกับเสรีภาพ
ระบอบประชาธิปไตยนั้นจะมีกรอบความคิดใหญ่ ๆ อยู่ 2 ลักษณะคือ (1) ระบอบประชาธิปไตยโดยตรง (Direct Democracy) ที่ประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจโดยตรงมีรูปแบบที่เป็นรากฐานมาจากชาวเอเธนส์ (Athens) เมื่อ 5000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในสมัยนั้นนครรัฐเอเธนส์จะมีประชากรประมาณสามแสนคน ทำให้ประชาชนทุกคน ยกเว้น สตรี ทาส คนต่างด้าว และ บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (น้อยกว่า 20 ปี) สามารถใช้สิทธิได้โดยตรง การใช้อำนาจโดยตรงของประชาชนนั้นในปัจจุบันจะเป็นเรื่องที่เป็นได้ยากเพราะประชากรของรัฐ-ชาติ (State-Nation) นั้นมีจำนวนมากทำให้การบริหารจัดการหรือการดำเนินการตัดสินใจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐเป็นไปด้วยความยากลำบาก
(2) ระบอบประชาธิปไตยโดยผู้แทน (Representative Democracy) เมื่อประชาชนของแต่ละรัฐมีจำนวนมาก การใช้อำนาจโดยตรงเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทำให้เกิดแนวความคิดในการใช้อำนาจผ่านผู้แทนที่ถูกเลือกเข้าไป โดยระบอบประชาธิปไตยลักษณะนี้มีวิวัฒนาการมาจากประเทศตันตก 3 ประเทศคือ อังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ และ สหรัฐ ฯ สำหรับกรอบแนวคิดของระบอบประชาธิปไตยแบบนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นได้แก่อำนาจการควบคุมนักการเมืองที่อาสามาเป็นผู้แทนโดยใช้กลไกการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดีการเลือกตั้งไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดเพียงอย่างเดียวของระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่สำคัญไม่ต่างกันนั้นได้แก่ประชาชนผู้เลือกผู้แทนเหล่านั้นสามารถรับรู้ถึงการตัดสินใจของผู้ปกครองในกรณีสำคัญต่าง ๆ โดยที่ผู้ปกครองจะต้องไม่ทำการปกปิดหรือมีวาระซ่อนเร้นในการตัดสินใจต่าง ๆ
นอกเหนือจากรูปแบบของการใช้อำนาจโดยตรงและผ่านผู้แทนของประชาชนแล้ว สิ่งที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยได้แก่ปรัชญาของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมองไปที่ธรรมชาติของมนุษย์ กฎแห่งธรรมชาติ และ สภาวธรรมชาติ โดยปรัชญารากฐานที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยนั้นสามารถรวบรวมได้ดังนี้ (ศ.ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมือง: แนวความคิดและการพัฒนา, พิมพ์ครั้งที่ 15, สำนักพิมพ์ เสมาธรรม, กรุงเทพฯ: หน้า 249 – 258)
* ธรรมชาติของมนุษย์ (Human Nature): มนุษย์เป็นผู้ที่มีเหตุผล สามารถเรียนรู้ทำความเข้าใจต่อโลกภายนอกได้ มีความสามารถในการตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีสำหรับตน ถึงแม้ดุลยพินิจของมนุษย์จะไม่ได้ถูกต้องเสมอไป แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะกระทำแต่สิ่งที่ดีสำหรับตนมากกว่าผู้ปกครองตัดสินใจให้ นอกจากนี้มนุษย์ยังมีการใช้มโนธรรมส่วนบุคคลประกอบการตัดสินใจร่วมกับเหตุผล แต่มโนธรรมที่แตกต่างกันทำให้ประชาคมทางการเมืองต้องอาศัยการวินิจฉัยร่วมกันของคนส่วนใหญ่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นรากฐานแนวคิดของเสียงส่วนใหญ่ (Majority Rule) ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย * เสรีภาพของมนุษย์ (Liberty): การเกิดขึ้นมาของมนุษย์นั้นสามารถถือได้ว่าเกิดมาพร้อมกับเสรีภาพ และการที่มนุษย์รวมตัวกันกันจัดตั้งรัฐก็เพื่อดำรงรักษาเสรีภาพของมนุษย์ และรัฐก็มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ อย่างไรก็ดีเสรีภาพของมนุษย์จะมีขอบเขต และมนุษย์แต่ละคนต้องไม่ละเมิดขอบเขตนี้ ทั้งนี้เพราะมนุษย์มีความเสมอภาคในเสรีภาพที่ตนมี และจะต้องไม่ละเมิดเสรีภาพของใคร เสรีภาพของมนุษย์จึงถือได้ว่าเป็นรากความคิดของระบอบประชาธิปไตย
* ความเท่าเทียมกันของมนุษย์ (Equality): ถึงแม้มนุษย์จะเกิดมามีความแตกต่างกัน แต่ความแตกต่างดังกล่าวก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีความได้เปรียบอีกบุคคลหรือกลุ่มอีกกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นความเท่าเทียมกันของมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์แต่ละคนพึงจะได้รับโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเท่าเทียมกันในโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีในสังคม ซึ่งถือได้ว่าเป็นรากฐานแนวคิดของความเท่าเทียมกันในสังคมของระบอบประชาธิปไตย
* อำนาจอธิปไตยของประชาชน (Popular Sovereignty): เมื่อประชาชนมีเสรีภาพและความเท่าเทียมกันในสังคมแล้ว ในระบอบประชาธิปไตยอำนาจจะตกเป็นของประชาชน โดยประชาชนได้ตกลงร่วมกันจะมอบอำนาจให้กับผู้ปกครองหรือผู้แทน ซึ่งเมื่อได้มอบอำนาจให้กับผู้ปกครองหรือผู้แทนแล้ว การมีหลักประกันว่าทำอย่างไรจะให้ผู้ปกครองหรือผู้แทนของตนไม่กระทำการใด ๆ ก็ตามที่อาจจะละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนประชาชนจึงมีสิทธิที่จะควบคุมให้ผู้ปกครองหรือผู้แทนทำการปกครองด้วยความเป็นธรรมและเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งถ้าผู้ปกครองหรือผู้แทนละเมิด ประชาชนก็มีสิทธิที่ถอดถอนผู้ปกครองหรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจไป ดังนั้นระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยจึงเป็นของประชาชน
ไม่เพียงแต่ปรัชญารากฐานสำคัญที่ก่อให้เกิดระบอบประชาธิปไตยแล้ว หลักการของประชาธิปไตยก็มีความสำคัญไม่แก้กัน โดยหลักการของประชาธิปไตยนั้น ศ.ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ได้แบ่งออกเป็น 5 ประการ (ibid, หน้า 258 – 273) คือ
1. หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน (Popular Sovereignty): ในหลักการข้อนี้จะเป็นเรื่องของการให้ความสำคัญกับอำนาจอธิปไตยที่จะต้องเป็นของประชาชน เพื่อให้การปกครองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง โดยประชาชนมีอำนาจในการเลือกผู้แทนที่จะเข้าไปปกครอง และรวมไปถึงอำนาจในการถอดถอนผู้แทนที่ตนเองเลือกเข้าอีกด้วย
2. หลักเสรีภาพ (Liberty): ในหลักการข้อนี้จะเป็นการให้ความสำคัญกับเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเสรีภาพเหล่านี้จะต้องมีการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่ความเสมอภาคของประชาชน
3. หลักความเสมอภาค (Equality): หลักการในข้อนี้ให้ความสำคัญกับความเสมอภาค ถึงแม้ว่ามนุษย์เราจะเกิดมามีความแตกต่างกัน แต่ความแตกต่างเหล่านี้เป็นเพียงความแตกต่างกันทางกายภาพ สำหรับความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตยนั้นจะให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางโอกาส ซึ่งหมายถึงประชาชนจะมีโอกาสที่เท่ากันในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา
4. หลักกฎหมาย (Rule of Law): หลักการในข้อนี้จะให้ความสำคัญกับการบัญญัติกฎหมายที่คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน โดยมีความชอบธรรม บังคับใช้กับประชาชนอย่างยุติธรรมมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าจะใช้กับบุคคลใดหรือชนชั้นใด
5. หลักเสียงข้างมาก (Majority Rules): ปัจจุบันประชากรของรัฐแต่ละรัฐนั้นมีจำนวนมาก ซึ่งคงเป็นการยากที่จะให้ทุกคนในรัฐมีความคิดเห็นเหมือนกัน ดังนั้นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยหลักการเสียงข้างมาก เพราะเสียงเอกฉันท์คงจะเป็นไปได้ยาก ส่วนการใช้เสียงข้างมากแค่ไหนเป็นเกณฑ์นั้นขึ้นอยู่กับความสำคัญของปัญหา ถ้าสำคัญมากคงต้องใช้เสียงข้างมากที่มากกว่าครึ่งหนึ่ง อย่างก็ดีหลักการเสียงข้างมากนั้นก็ไม่อาจจะละเลยสิทธิของเสียงข้างน้อย (Minority Rights)ได้ ทั้งนี้จะต้องมีหลักประกันที่ให้ความคุ้มครองกับเสียงข้างน้อย เพื่อป้องให้ไม่ให้เสียงส่วนใหญ่กดขี่ข่มเหงเสียงส่วนน้อย
จากที่กล่าวมาในข้างต้นคิดว่าหลาย ๆ ท่านอาจจะเห็นภาพของแนวคิดที่เป็นรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้ชักเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ล้วนแต่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตามกระแสโลกาภิวัตน์ทำให้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละสิ่งแวดล้อมของแต่ละรัฐหรือประเทศ แต่โดยกรอบแนวคิดแล้วระบอบประชาธิปไตยในทุก ๆ รัฐ ยังคงต้องมีบรรทัดฐานของหลักการทั้ง 5 ข้อ ตามที่ได้กล่าวมาในข้างต้น จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไปไม่ได้ ซึ่งเรามักจะพบกันเสมอว่า ถ้าเราพูดถึงประชาธิปไตยแล้ว คนส่วนใหญ่จะนึกถึงแค่ อำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชน ประชาชนมีเสรีภาพ ความเท่าเทียมกัน (ความเสมอภาค) และเสียงข้างมากของคนส่วนใหญ่ โดยหลักการที่หลายคนละเลยหรือมองข้ามไปนั้นสามารถกล่าวได้ว่ามีความสำคัญต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในปัจจุบันไม่แพ้หลักการในข้ออื่นๆ ดังเช่นการบัญญัติกฎหมาย การประกาศใช้กฎหมาย และการบังคับใช้ ที่ช่วยให้สังคมสงบสุขหรือกระบวนการยุติธรรมมีความน่าเชื่อถือสามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ นอกจากนี้ในกรอบแนวคิดของหลักการเสียงข้างมาก ยังถูกนำไปใช้อย่างไม่ครบถ้วน สิ่งที่มักจะถูกลืมคือ สิทธิของคนส่วนน้อย (Minority Rights) ที่ต้องได้ความคุ้มครองและรับฟังจากเสียงส่วนใหญ่ ถ้าคนส่วนใหญ่ละเลยไม่รับฟังแล้ว ผลที่ตามมาคือการเกิดขึ้นของความขัดแย้งในสังคมอย่างรุนแรง หลักการเสียงข้างมากและสิทธิของเสียงส่วนน้อย (Majority Rules and Minority Rights) จะต้องถูกนำมาพิจารณา โดยใช้แนวทาง “สมานฉันท์” เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยของเรามีประชาธิปไตยที่ครบถ้วนเต็มใบ อย่างที่หลายคนถามหา ………
วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553
ตปส. (หลักสูตรต่อสู้และปราบปรามการก่อความไม่สงบ)
ตปส. (หลักสูตรต่อสู้และปราบปรามการก่อความไม่สงบ) มีสองระดับครับ คือ
1. "ระดับนักเรียนนายร้อยตำรวจ" การฝึกระยะเวลา 1 เดือน ผู้ดำเนินการฝึกคือกองบังคับการฝึกพิเศษ บช.ตชด. หน่วยฝึกอบรม คือ กก.1 บก.กฝ.บช.ตชด.(ค่ายพระรามหก) และ กก.7บก.กฝ.บช.ตชด.(ค่ายศรียานนท์)
2. "ระดับประทวน" การฝึกระยะเวลา 1 เดือน ผู้ดำเนินการฝึกคือ กองบังคับการฝึกพิเศษ บช.ตชด.หน่วยฝึก กก.1-9 ครับข้อแตกต่างของเครื่องหมาย คือตรงกลางของเครื่องหมายสำหรับประทวนจะเป็นสีแดง
เนื้อหาหลักสูตรมีลักษณะคล้ายกันครับ ได้แก่ หมวดหมู่ทำการรบตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงการตั้งฐานปฏิบัติการและการทำลายวัตถุระเบิด(เบื้องต้น)อื่นเหมือนการฝึกของทหาร แต่มีการเรียนการปฏิบัติการข่าวกรองและการปฏิบัติการจิตวิทยาซึ่งเป็นเรื่องของสงครามพิเศษล่ะครับแต่ส่วนใหญ่ ตชด. จะเรียกเป็นภาษาปากว่า "หลักสูตรปรับพื้นฐาน ตชด."ก็เพราะเนื่องจากเป็นหลักสูตรสำหรับ ตำรวจทุกนายไม่ว่าจะเป็นสัญญาบัตร หรือประทวนที่จะมารับราชการเป็นตำรวจตระเวนชายแดน โดยเฉพาะ นักเรียนนายร้อยตำรวจถึงแม้ว่าจะจบหลักสูตรนี้มาแล้วก็ต้องมาปรับพื้นฐานใหม่ แต่เรียกหลักสูตรนี้ว่า"หลักสูตรผู้บังคับหมวด ตชด."
หลักสูตรพิเศษของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เกี่ยวข้อกับการปราบปรามและการรบ(เฉพาะที่มีเครื่องหมาย)
1.หลักสูตรต่อต้านการก่อการร้าย(กก.3 บก.สอ.บช.ตชด.)
2.หลักสูตรต่อสู้และปราบปรามการก่อความไม่สงบ(บก.กฝ.บช.ตชด.)
3.หลักสูตรเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด(กก.1 บก.กฝ.บช.ตชด. และ สพ.)
4.หลักสูตรกระโดดร่ม(กก.4 บก.สอ.บช.ตชด.)
5.หลักสูตรตำรวจสนาม(ชัยยะ)(บก.กฝ.บช.ตชด.)
6.หลักสูตรปราบปรามจลาจล(ปจ.บช.น.)
7.หลักสูตร"สยบไพรี"(หน่วยพิเศษของ บช.ปส.)
คิดว่าหมดแล้ว......หากมีเพื่มแนะนำได้ครับ ไอ้ที่ไม่มีเครื่องหมายไม่พูดถึงเพราะมันจัดกันได้หมดเลยเช่น ยุทธวิธีตำรวจในเมือง แต่ละหน่วยก็จัดการฝึกเองได้การรบในเมือง และการรบพิเศษในเมือง เป็นเรื่องการรบ หมายถึงการทัพ และการสงคราม แตกต่างกันก็คือการรบในเมืองคือการใช้กำลังรบเป็นหมวดหมู่ทำการรบ ในระดับต่าง ตั้งแต่ระดับหมวด ระดับกองร้อยระดับกองพัน...........กองพลโน้น มีหน่วยต่างเกี่ยวข้องมากทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศเหมือนที่สหรัฐยกทัพไปรบใน แบกแดด ประเทศอิรักนั้นเลยส่วนการรบพิเศษในเมือง คือการใช้กำลังของหน่วยรบพิเศษขนาดเล็กเข้าปฏิบัติ เพื่อตัดทอน/รั้งหน่วงกำลังรบหาข่าวกรอง หรือปลุกระดม/ยั่วยุอีกฝ่าย การจารกรรม การก่อวินาศกรรมเหล่านี้เป็นการรบในสงครามพิเศษทั้งสิ้นส่วนการปฏิบัติการพิเศษนั้นได้กล่าวไปแล้วในเรื่องก่อนนะครับ ไม่ขอตอบซ้ำแต่จะกล่าวในลักษณะของทหารเพื่อเพิ่มเติมส่วนที่ขาดไป คือหน่วยที่มีภารกิจพิเศษที่ไม่เกี่ยวข้องกับสงครามแต่จัดเป็นกองหนุนเพื่อเสริมงานความมั่งคงที่เกินมือของตำรวจ ฝ่ายปกครองท้องที่ไม่สามารถดำเนินการได้ ลักษณะเหมือนงานของ "ตำรวจพลร่ม" เช่นงานปราบปรามจลาจล งานต่อต้านการก่อการร้ายและการก่อการ้ายสากลแต่ก็อาจนำงานดังกล่าวไปจัดการในพื้นที่การรบได้เช่นเดียวกันปกติจะฝึกประมาณ 4 เดือน ครับในทุกหลักสูตร แต่ก็นานมาแล้วไม่ทราบว่าเปลี่ยนหรือยัง
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)